ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภารกิจถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นอีกหนึ่งนโยบายและความรับผิดชอบใหญ่ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (รมว.สธ.) คนใหม่ ที่ต้องบริหารจัดการให้ราบรื่น 

จากข้อมูลของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่ามี รพ.สต.ทั่วประเทศทั้งหมด 9,872 แห่ง ถ่ายโอนจาก สธ. ไปอยู่กับ อบจ. แล้ว จำนวน 4,276 แห่ง คิดเป็น 43.31% ยังไม่ถ่ายโอน 5,596 แห่ง คิดเป็น 56.69% มี อบจ. รับถ่ายโอนแล้ว 62 จังหวัด ยังมีอีก 14 จังหวัดไม่รับถ่ายโอน 

ในจำนวนนี้ เฉพาะปี 2566-2567 มีการถ่ายโอนมากถึง 4,197 แห่ง ใน 49 อบจ. ซึ่งถือเป็น 'บิ๊กล็อต' และนำมาสู่ปัญหาระหว่างทางตามมา

ด้วยจำนวนการถ่ายโอนที่ยึดเอาตามความสมัครใจ (แม้จะมีการประเมินศักยภาพ) แต่นั่นก็ยังทำให้ฟากฝั่ง สธ. หวั่นใจว่า อบจ. จะมีศักยภาพดูแลบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชนได้ดีหรือไม่ 

รวมไปถึงบุคลากรที่อยู่กับ สธ. แต่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. จะมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการด้านบริการสุขภาพของ สธ. ด้วย ขณะที่ทาง อบจ. เอง ก็ต้องการบุคลากรสำหรับจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิตามกฎหมายระบุ พร้อมกับงบประมาณ เพื่อที่จะให้บริการกับประชาชนอย่างดีที่สุดได้ 

นี่ยังไม่นับรวมกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการถ่ายโอนที่เกิดขึ้น แต่กระนั้นการได้ รมว.สธ. คนใหม่อย่าง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ก็พอจะสร้างความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่งว่ามีความเข้าใจสถานการณ์และสามารถประสานการทำงานระหว่าง อบจ. กับ สธ. ได้

The Coverage ได้สอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หลายฝ่ายมีความเชื่อว่า ในอนาคตภารกิจถ่ายโอนฯ นี้ รมต.สมศักดิ์ น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทิศทางไปข้างหน้าอย่างดียิ่งขึ้น 

‘The Coverage’ ได้เรียงความเห็นของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ถึงทิศทางการถ่ายโอนที่จะเกิดขึ้นในรอบต่อไป ภายใต้การบริหารของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ.คนใหม่ เพื่อให้เห็นภาพว่าทิศทางการถ่ายโอนจะมุ่งไปสู่ฉากทัศน์ใดได้บ้าง 

ถึงเวลา เคลียร์ที่ดิน รพ.สต. ถ่ายโอน 

เลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ภาพกับ ‘The Coverage’ ว่า เมื่อเปลี่ยนตัว รมว.สธ.คนใหม่ และเป็นตำแหน่งที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. ด้วยนั้น สิ่งที่ค้างคาอยู่และอยากเห็นความคืบหน้าในการจัดการแก้ไขปัญหาการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จาก รมต. สมศักดิ์ คือเรื่องการถ่ายโอนบัญชีโอนทรัพย์สิน ที่ดิน อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ของ รพ.สต. จากสังกัดเดิม คือ สธ. ให้กับ อบจ. โดยเร็วที่สุด 

สาเหตุเพราะการถ่ายโอนบิ๊กล็อต รพ.สต. หลายพันแห่งในช่วงที่ผ่านมาในเกือบ 50 อบจ.ทั่วประเทศ แทบจะยังไม่เกิดการถ่ายโอนที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ ให้กับ อบจ. ได้เลย นั่นเพราะปัญหาคือข้อติดขัดในเรื่องที่ดินที่่ไม่ใช่ทรัพย์สินของ สธ. เพียงหน่วยงานเดียว หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย 

หากการถ่ายโอนที่ดินที่ไม่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ อบจ. ไม่สามารถจัดสรรเงินงบประมาณไปลงทุนก่อสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุง หรือพัฒนา รพ.สต. ให้ดีขึ้นได้ แม้ว่าจะเป็นมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ ไปแล้วก็ตาม  

ส่วนปัญหาในด้านอื่นๆ ‘เลอพงศ์’ ย้ำว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการบริหารอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ ประชุมและมีมติในขั้นตอนการถ่ายโอนออกมาแล้ว ซึ่งเป็นกติกา หลักเกณฑ์ที่เห็นร่วมกัน เพียงแค่ นายสมศักดิ์ รมว.สธ. คนใหม่ กำกับการทำงานให้เป็นไปตามกติกา เชื่อว่าการถ่ายโอนก็จะไหลรื่น 

"มันไม่ถึงกับราบรื่นหรอกนะ แต่อย่างน้อยถ้าทำตามมติของอนุกรรมการก็จะทำให้การถ่ายโอนไหลรื่นได้ แต่ทั้งนี้ ก็อยู่ที่ว่าท่านสมศักดิ์ จะกำกับการทำงานให้เป็นไปตามกติกาที่เป็นแนวทางร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงจะรับฟังรายละเอียดของปัญหาที่ผ่านมามากแค่ไหน" เลอพงศ์ ระบุ

สไตล์การทำงานของ รมต.สมศักดิ์ ที่เลอพงศ์พูดถึง เขาขยายความด้วยว่า จากการที่ได้เห็นและได้ทำงานร่วมกันในภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. เมื่อครั้งที่ นายสมศักดิ์ เป็นรองนายกฯ และถูกมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ประธาน กกถ.) มาแล้ว 

ครั้งนั้น มีปัญหาให้แก้เรื่องบุคลากรถ่ายโอนเมื่อปลายปี 2566 ที่มีการยื้อบุคลากรกันระหว่าง สธ. และอบจ. ที่ต้องการกำลังคน นายสมศักดิ์เข้ามาเคาะแก้ปัญหาจากอำนาจที่มีด้วยรูปแบบ 'รอมชอม' ซึ่งเลอพงศ์มองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ขอให้ระวังว่าการรอมชอม และทำให้ทุกฝ่ายถูกใจ โดยอาจไม่ยึดหลักกฎหมาย หรือกติกาที่ตกลงกัน หรืออาจรับฟังข้อมูลเพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่ตรงกับเป้าหมายการถ่ายโอนที่แท้จริง ก็อาจเกิดปัญหาตามมาในการถ่ายโอน รพ.สต. ในอนาคต 

ตำแหน่งเปลี่ยน หมุดหมายถ่ายโอน รพ.สต. อาจเปลี่ยนตาม 

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย และในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ กกถ. ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. ให้อบจ. ให้ความเห็นกับ ‘The Coverage’ ว่าปัญหาการการถ่ายโอน รพ.สต. ยังคงมีอยู่ และมันก็ยังไม่คืบเหน้าเท่าไหร่ 

แต่ที่น่าสนใจคือ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ กกถ. ที่รับผิดชอบงานภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ชุดปัจจุบัน รวมถึงคณะอนุกรรมการทำงานในชุดต่างๆ จะหมดวาระวันที่ 7 พ.ค.นี้ และทิศทางการถ่ายโอนก็ต้องรอคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำงาน ก็ดูเหมือนว่าการหมดวาระจะสอดรับกับการปรับ ครม. และเปลี่ยนตัว รมว.สธ.ในครั้งล่าสุดด้วย ซึ่งเท่ากับว่าอาจเป็นการล้างไพ่ใหม่กับรูปแบบการถ่ายโอน 

อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์ ในฐานะ รมว.สธ. และอดีตก็ยังเป็นประธาน กกถ.  ก็ยังเป็นคนสำคัญของภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ในฐานะเจ้าของภารกิจบริการสูขภาพปฐมภูมิจากฝั่ง สธ. กระนั้นก็อาจจะเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้การถ่ายโอนครั้งต่อไปราบรื่น เพราะตัวสมศักดิ์ก็รู้ถึงปัญหาต่างๆ มาตั้งแต่ต้น และจากแนวคิดเดิมของเจ้าตัว ก็หนุนเสริมการกระจายอำนาจเป็นอย่างดี 

“แต่สถานการณ์มันเปลี่ยนแล้ว ตอนนี้ท่านสมศักดิ์มาเป็น รมว.สธ. จากเดิมที่หนุนเรื่องกระจายอำนาจเต็มที่ แต่เมื่อตำแหน่งเปลี่ยน ความคิดและแนวทางเดิมจะเปลี่ยนไปด้วยหรือเปล่า เพราะท่านจะใกล้ชิด และได้ข้อมูลจาก สธ. ที่มากขึ้น ก็อาจทำให้มีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องการถ่ายโอนที่เปลี่ยนไป แต่เรื่องนี้ต้องรอการพิสูจน์” ธนาพร ย้ำ 

สิ่งที่สมศักดิ์เข้าใจดีอยู่แล้วในเรื่องการถ่ายโอน โดยเฉพาะกับบุคลากรที่ต้องการถ่ายโอนไป อบจ. แต่เดิมอาจติดขัดมีปัญหา ระว่าง สธ. และฝั่ง อบจ. ที่แต่ละฝ่ายก็อยากได้บุคลากรไปบริการประชาชน ฝั่ง สธ. ก็ไม่อยากเสียบุคลากรไป ฝั่ง อบจ. เองก็ต้องการบุคลากรมาทำงานหลังจากรับถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้ว แต่ทั้งสองฝั่งก็เห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ธนพร ย้ำว่า ดังนั้นการถ่ายโอนก็ต้องยึดเอาประโยชน์ตรงนี้ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย 

“เรื่องบุคลากรถ่ายโอนมันควรจะจบ ไม่อย่างนั้นจะเป็นภาระของรัฐบาล บุคลากรปฐมภูมิ รวมถึงบุคลากรเฉพาะทางที่ต้องการโอนย้ายไป สธ.ก็ควรต้องปล่อยไป แล้วเปิดตำแหน่งใหม่รองรับบุคลกรที่รออยู่ ไม่เช่นนั้น อบจ. ก็ต้องไปจ้างคนมาเพิ่ม และเงินเดือนที่จ้างก็มาจากรัฐ แบบนี้ก็ทำให้ประเทศจ่ายเงินเดือนบุคลากรที่ดูแลประชาชนกลุ่มเดียวกันทั้งสองฝ่าย มันไม่เป็นธรรมกับคนจ่ายภาษี” ธนพร ให้ความเห็น     

แต่ที่มากกว่านั้น คือ สธ. จะเข้ามามีบทบาทอย่างไรต่อการช่วยยกระดับ และพัฒนา รพ.สต. ที่อยู่ในสังกัด ที่ไม่ถ่ายโอนไป ให้มีประสิทธิภาพในการบริการปฐมภูมิกับประชาชนได้ดีกว่า รพ.สต. ที่ถ่ายโอน

อย่างไรก็ตาม ตัวตนของ รมต.สมศักดิ์ ที่ ‘ธนพร’ มองเห็น และได้ทำงานด้วย คือเป็นนักการเมืองที่เน้นด้านเกษตร เน้นปากท้องของประชาชน ในเรื่องถ่ายโอนก็อาจถูกมุ่งเน้น เพราะจะเป็นบริการสุขภาพที่ลดต้นทุนด้านสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกับเกษตรกร อย่างน้อยถ้ายกระดับ รพ.สต.ได้ดี คนก็ไม่ต้องเสียเงินไปโรงพยาบาล

ประธาน กกถ. คงมาเร่งเงิน SML ให้ รพ.สต. ไม่ยุ่งการถ่ายโอน 

นอกจาก รมว.สธ.คนใหม่ ที่เข้ามาจัดการภารกิจถ่ายโอนแล้ว หน้าที่ของประธาน กกถ.คนใหม่ ที่นายกฯ จะมอบหมายให้รองนายกฯ เข้ามาทำงานในเรื่องการกระจายอำนาจ ธนพร บอกกับเราว่า ก็ยังมีปัญหาที่รอให้สะสางอยู่ 

ธนพร บอกว่า ประธาน กกถ. จะต้องเข้ามาจัดการเพื่อให้การถ่ายโอนราบรื่น คือ เงินสำหรับสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอน หรือเงินอุดหนุนพัฒนา รพ.สต. ตามขนาด S M L ที่ยังขาดอยู่หลายแห่ง 

รวมถึงไปจัดการประเด็นเงินเดือนบุคลากรที่ถ่ายโอน ที่ฝั่ง อบจ. มองว่า ไม่ควรนับรวมอยู่ในงบประมาณ 40% ของ อบจ. และเร่งรัด ผลักดัน ระเบียบต่างๆ ในการจัดสายงานบุคลากร จะแท่งการเจริญเติบโตในตำแหน่งของกระทรวงมหาดไทย 

“ผมคิดว่า ประธาน กกถ. คนใหม่คงเข้ามาจัดการ และผลักดัน 2-3 เรื่องนี้ ส่วนเรื่องถ่ายโอน รพ.สต. คงจะให้ยึดตามระเบียบ และมติจากคณะทำงาน ประธาน กกถ. คงไม่ไปทำอะไรให้ยุ่งยากกว่าเดิม"”ธนพร ย้ำ 

ธนพร ย้ำกับเราอีกครั้งว่า นายสมศักดิ์เข้าใจดีว่าการถ่ายโอน รพ.สต. จะมีประโยชน์กับประชาชนมากแค่ไหน แต่ในมุมนักการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่า สมศักดิ์ ก็หวังผลงานจากตำแหน่ง รมว.สธ. เพื่อประโยชน์ทางการเมืองด้วยเช่นกัน แม้ว่าใครจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งนี่คือบทบาทของนักการเมือง และทุกฝ่ายในกระทรวงอาจต้องเข้าใจบทบาทนี้ของ รมว.สธ.คนใหม่ด้วย 

“เขาคือนักการเมือง เวลาคิดอะไรที่เป็นนโยบายออกมา ก็ต้องคิดซ้อนผลประโยชน์ทางการเมืองเข้าไว้ด้วย มันคือเรื่องปกติของนักการเมือง” ธนพร กล่าวย้ำ 

แต่กระนั้น หากมอง ณ เวลานี้ว่าสมศักดิ์จะเข้ามาทำอะไรในกระทรวง ธนพรมองว่า อาจเป็นโอกาสอันดีของการยกระดับการแพทย์ทางเลือก ภูมิปัญญาการใช้แพทย์แผนไทย สมุนไพรไทยที่จะถูกพัฒนาต่อยอด แต่ในเรื่องอื่นๆ คงต้องรอดูนโยบายของสมศักดิ์อีกครั้ง 

“อย่างที่ก่อนหน้านี้ มีการเอาคลิปต้มใบมะละกอ รักษามะเร็งมาล้อเลียนท่าน (สมศักดิ์) แต่ท่านคงมาหนุนเรื่องนี้ โดยให้มีการตรวจสอบ และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน ก็พอเห็นว่าท่านจะสนับสนุนภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทย แต่เรื่องอื่น ท่านคงไม่ยุ่งมากนัก ก็อยู่ทีว่า ข้าราชการ สธ. จะตอบสนองนโยบายส่วนตัวของท่านได้มากน้อยแค่ไหน” 

อย่างไรก็ตาม การทำงานในกระทรวงหมอ ของสมศักดิ์ ในช่วงแรก ‘ธนพร’ มองว่าคงจะถูกจับตามองจากข้าราชการกระทรวง เพราะสมศักดิ์ในฐานะที่เป็นนักการเมืองมีชื่อ มีประสบการณ์ทำงานมานาน ก็ใช่ว่าใน สธ. จะให้การยอมรับ บรรยากาศการทำงานในช่วงแรกคงมีการหวาดระแวงกันพอสมควร เพราะสมศักดิ์ก็มีที่มาที่ไปทางการเมือง 

“เพราะใน สธ. เอง ก็มีขบวนการทีมีผลประโยชน์อยู่ ทั้งเรื่องยา อาหาร เครื่องมือทางการแพทย์ คนใน สธ. คงดูท่าทีก่อน ไม่ผลีผลามตัดสิน แต่เท่าที่ผมได้ยินมา ใน สธ. เองก็ค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับสตอรี่ของท่าน ซึ่งก็ต้องทำงานเพื่อพิสูจน์” ธนพร ให้ความเห็น 

อบจ. ยินดี ได้ สมศักดิ์ เป็นรมว.สธ. ถ่ายโอนคงราบรื่น 

The Coverage ติดต่อเพื่อขอฟังความเห็นไปที่ชมรม รพ.สต. แห่งประเทศไทย รวมถึงความคิดเห็นจาก สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สธ. ที่ดูแลเรื่องภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. หลังจากมี รมว.สธ.คนใหม่เข้ามาสานต่อภารกิจด้านนี้ 

แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงขอสงวนท่าทีในการให้ความเห็น โดยบอกแต่เพียงว่า อยากเห็นนโยบายที่ชัดเจนจากสมศักดิ์ ในเรื่องการถ่ายโอนก่อน 
อย่างไรก็ตาม ในมุมของ อบจ. ที่ต้องรับการถ่ายโอน รพ.สต. ที่สมัครใจเข้าสู่สังกัด มีความยินดีทีเดียว ที่สมศักดิ์ มาเป็น รมว.สธ. และเชื่อได้ว่าการถ่ายโอนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

ชูพงษ์ คำจวง นายกสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย และนายก อบจ. สกลนคร ที่รับถ่ายโอน รพ.สต. บอกกับ “The Coverage” ว่า เมื่อครั้งนายสมศักดิ์เป็นรองนายกฯ และเป็นประธาน กกถ. ก็เข้ามาแก้ปัญหาการถ่ายโอนในหลายเรื่อง ฉะนั้นเมื่อมาเป็น รมว.สธ. ก็น่าจะทำงานกับ อบจ. ได้ด้วยดี 

“เพราะที่ผ่านมา ท่านสมศักดิ์ให้ความสำคัญกับ สมาคม อบจ.ฯ มาตลอด ช่วยแก้ไขกฎระเบียบ แก้ปัญหาการบริหารงานบุคลากรที่ถ่ายโอนให้ รมว.สธ.คนนี้ เป็นคนที่ทาง อบจ. ยินดีจะทำงานร่วมกัน”

ชูพงษ์ ขยายความว่า ที่บอกเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า การทำงานกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต รมว.สธ. รวมถึงทีมบริหาร สธ. จะมีปัญหา แต่การทำงานที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือดีระหว่างกัน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่ฝั่ง สธ. เจอ และที่ อบจ. เจอ ให้ลุล่วงไปได้ แต่ก็ใช่ว่ามันจะราบรื่นไปทั้งหมด 

แต่เมื่อถามถึงปัญหาใดบ้างที่อยากให้ รมว.สธ.คนใหม่เข้ามาช่วยเรื่องการถ่ายโอน ชูพงษ์ตอบอย่างรวดเร็วว่า ‘เรื่องที่ดิน’ ที่การถ่ายโอนทรัพย์สินจาก สธ. ให้ อบจ. ยังล่าช้า ซึ่งเพราะบางส่วนยังเป็นที่ดินของราชพัสดุ แต่ในเรื่องการถ่ายโอนคุรภัณฑ์ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ ‘พอรับได้’ 

อีกเรื่องคือเงินอุดหนุน รพ.สต. ที่ถ่ายโอน เพราะ อบจ. รับถ่ายโอน รพ.สต.มา เพราะรัฐบาลต้องอุดหนุน หากรับมา แล้วมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ อบจ. ลำบากในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ให้ครบทุกมิติ 

ชูพงษ์ บอกด้วยว่า เรื่องบุคลากรถ่ายโอน อบจ. ที่ยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญและจำเป็นต่อชุดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ก็อยากให้ทาง สธ. ได้ปล่อยบุคลากรเหล่านี้มาช่วยราชการ อบจ. หากเป็นไปได้อย่างน้อย 2 ปี ไม่ต้องไปกระจุกตัวอยู่ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เพราะไม่มีประโยชน์

“อบจ.มองว่า บุคลากรที่ไม่อยากถ่ายโอนไป แล้วไปกระจุกตัวที่ สสอ. มันไม่เกิดอะไรขึ้นมา หลายคนไปนั่งตบยุงเฉยๆ จึงอยากให้มาช่วยราชการ อบจ. สัก 2 ปีก่อน เพื่อให้เราตั้งตัวได้ และจัดสรรบุคลากรเข้ามาได้ เพราะต้องยอมรับว่าการหาคนมาเติมระบบมันไม่ง่าย ต้องบ่มเพาะหรือต้องผลิตขึ้นมา ผมมองว่าเป็นเรื่องด่วนที่ สธ. จะต้องทบทวนใหม่” ชูพงษ์ เสนอ