ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมฉายภาพสถานการณ์และความรุนแรงของโรคไตเรื้อรังในประเทศไทย บนเวทีสัมมนา “รู้ใจ ไม่รู้ไต : ร่วมชะลอภัยโรคไตด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อปลายเดือน มี.ค. 2567

นพ.วุฒิเดช ระบุตอนหนึ่งโดยเน้นย้ำถึงสถานการณ์ความรุนแรงของโรคไตเรื้อรังในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับที่รุนแรง และจะเป็นปัญหาต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงภาระทางงบประมาณ การเงินการคลังของชาติ สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคโตในอนาคตด้วย หากว่าเรายังไม่สามารถกดตัวเลขผู้ป่วยโรคไตหน้าใหม่ หรือชะลอผู้ป่วยโรคไตไม่ให้เข้าสู่ภาวะไตเรื้อรังได้

นพ.วุฒิเดช สะท้อนสถานการณ์ความรุนแรงของโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นระยะของโรคที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไต โดยทุกวันนี้ในระบบสุขภาพ ภายใต้ 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งดูแลประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท กองทุนประกันสังคมที่ดูแลผู้ประกันตน และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้กำหนดวิธีการรักษาด้วยกัน 3 วิธี คือ การบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต โดยจากตัวเลขของสมาคมโรคไตพบว่า มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทั่วประเทศประมาณ 1.1 แสนคน

มากไปกว่านั้น หากมองไปที่จำนวนผู้ป่วยในประเทศไทย เมื่อเทียบกับประชากร 1 ล้านคน จะถือว่าเรามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

ในขณะที่โรคไต ได้แบ่งระยะความรุนแรงออกเป็น 5 ระดับ เมื่อสำรวจอย่างจริงจังก็จะพบว่า ในประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ จะพบผู้ป่วยโรคไตทุกระดับมากถึง 17.5% หรือประมาณ 9.7 ล้านคน

หากลงรายละเอียดไปในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดัน ก็จะพบอีกว่าในจำนวนนี้ป่วยเป็นโรคไตมากถึง 2.4 ล้านคน และ 2.1 ล้านคนตามลำดับ

"ที่น่าตกใจคือ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและความดัน สามารถคุมค่าไตได้ไม่ถึงครึ่ง ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้ต้องไปเจอกับโรคไตอีกโรคอย่างเลี่ยงไม่ได้" นพ.วุฒิเดช ย้ำ

อย่างไรก็ตาม อีกสาเหตุที่ นพ.วุฒิเดช ฉายให้ฟังผ่านเวทีสัมมนา ซึ่งทำให้หลายคนต้องหันกลับมาเช็กสุขภาพตนเอง นั่นคือหากมีอาการติดเชื้อในปัสสาวะบ่อยครั้ง ก็มีความเสี่ยงเช่นกันที่จะเป็นโรคไต และนำไปสู่โรคไตเรื้อรังที่ต้องบำบัดทดแทนไตได้เหมือนกัน

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันจะเป็นที่รับรู้กันว่าต้นตอของโรคไต อันนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตไปตลอดชีวิต จะมีสาเหตุหลักมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs โดยเฉพาะกับโรคเบาหวาน และความดันสูง ซึ่งหากคุมอาการไม่ได้ก็มีความเสี่ยงที่ไตจะทำงานหนัก และนำไปสู่ภาวะการเสื่อมของไตในที่สุด

"การติดเชื้อในปัสสาวะ สามารถนำไปสู่การเป็นนิ่ว ที่ส่งผลกระทบทำให้ไตอักเสบ และเราพบเจอผู้ป่วยที่มาจากสาเหตุนี้มากขึ้นเรื่อยๆ" นพ.วุฒิเดช ย้ำกับวงสัมมนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปที่งบประมาณเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยของแต่ละกองทุน นพ.วุฒิเดช สะท้อนว่าเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี นั่นเพราะผู้ป่วยรายใหม่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนได้ถึงปัญหา และแนวทางการชะลอโรคไตเสื่อมของประเทศไทย ที่อาจจะยังไม่ได้ผลมากเพียงพอ

 

นพ.วุฒิเดช ให้ภาพอีกว่า งบประมาณรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังของ สำนักงานหลักประกันสุุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ และดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ซึ่งตั้งงบประมาณเอาไว้ราว 9,000 ล้านบาท ในปี 2565 แต่เมื่อใช้จริงกลับพบว่าต้องใช้งบประมาณมากถึง 1.2 หมื่นล้านบาท หรือนั่นเท่ากับ 10% ของงบประมาณสำหรับการรักษาพยาบาลที่ สปสช. จัดสรรไปทั้งหมด 

ในขณะที่กองทุนประกันสังคม ก็มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยในปี 2565 ได้ใช้งบประมาณไป 4,700 ล้านบาท ส่วนกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ก็ใช้ไปมากถึง 5,800 ล้านบาท และทุกกองทุนก็มีแนวโน้มที่จะต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมากขึ้น

ประเด็นนี้เองที่ นพ.วุฒิเดช กล่าวย้ำกับวงเสวนา และสะท้อนให้ทุกภาคส่วนที่ข้องเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ต้องตระหนักและร่วมกันจัดการ เพราะหากปล่อยไปเช่นนี้ แน่นอนว่างบประมาณสำหรับการรักษาก็จะต้องเพิ่มขึ้น จนแทบเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศชาติจะแบกรับไหว

"หากเราหยุดหรือชะลอผู้ป่วยไตเรื้อรังไม่ได้ งบประมาณที่ต้องใช้เพื่อรักษาก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาสาธารณสุขและปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ ผมกำลังบอกไปถึงการคุมโรคของผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดัน ที่ตอนนี้เราก็มีเยอะไปหมด ซึ่งท้ายที่สุดกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ป่วยโรคไตด้วย" นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ย้ำ

สำหรับทางออกที่ นพ.วุฒิเดช เสนอ คือต้องเพิ่มกระบวนการคัดกรองผู้ป่วยให้ครอบคลุมทุกกองทุนสุขภาพ เป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่ต้องทำให้เข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย และทำให้มีการคัดกรองมากที่สุดด้วย ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนรับรู้ความเสี่ยงของตัวเองก่อน ว่าตนเสี่ยงแค่ไหนต่อการยกระดับสู่โรคไตของตัวเอง และเมื่อเห็นถึงสัญญาณอันตราย ก็จะต้องเร่งควบคุมให้ได้ ดังนั้นองค์ความรู้ด้านการดูแลตัวเองเพื่อหนีจากโรคไต ก็ต้องตีคู่ไปกับการคัดกรองอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน

"นวัตกรรมหรือเครื่องมือที่ช่วยตรวจคัดกรองโรคไตได้ด้วยตัวเอง จึงสำคัญสำหรับประชาชนที่จะได้รู้ก่อน และคุมได้ก่อน ป้องกันตัวเองได้ก่อน ก่อนที่จะเป็นโรคไตเรื้อรัง นี่คือสิ่งที่จะต้องมีสำหรับประชาชนในการได้คัดกรองตัวเอง" นพ.วุฒิเดช ย้ำ