กลุ่มภาคประชาสังคมเรียกร้องนานาประเทศเร่งทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ ขอให้รัฐบาลจัดบริการสุขภาพโดยเอา “การเข้าถึงบริการถ้วนหน้า” เป็นตัวตั้ง ใช้กลไกทางการเงินผ่านระบบภาษี หลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินที่จะเพิ่มภาระหนี้สินในอนาคต
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มภาคประชาสังคมจับตาองค์การอนามัยโลก แสดงความเห็นผ่านสื่อ Peoples Dispatch ระบุว่า นานาประเทศยังคงห่างไกลจากเป้าหมายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals)
รายงานล่าสุดจาก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ชี้ว่า ประชากรโลกเกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 4,500 ล้านคน ยังขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ขณะที่ประชาการหนึ่งในสี่ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินเพราะค่าบริการสุขภาพ และเสี่ยงตกลงสู่ความยากจน
ในปี 2558 สหประชาชาติ (UN) ตั้งเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่ 3.8 คือการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนทั้งโลก กลุ่มภาคประชาสังคมเห็นว่าเป้าหมายนี้ไม่คืบหน้าตามแผนที่วางไว้ ทั้งยังเดินถอยหลังด้วยปัจจัยนานาประการ
วิกฤตโควิด-19 คือหนึ่งในปัจจัยนั้น ซึ่งทำให้กระบวนการการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าล่าช้าออกไปในระหว่างปี 2562-2564 ทั้งยังเพิ่มทวีคูณความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในเขตชนบท หรือมีรายได้ต่ำในหลายประเทศ
รายงานจากองค์การอนามัยโลกเสนอให้นานาประเทศเร่งไล่สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้
กลุ่มภาคประชาสังคมเห็นว่า รายงานนี้กลับไม่อธิบายเหตุผลที่ทำให้โลกกำลังถอยหลัง ทั้งยังไม่เสนอแผนที่ชัดเจนในการนำพาโลกกลับสู่เป้าหมาย หรือแม้แต่วิธีการทำให้ยาที่จำเป็นเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้จริง
นอกจากนี้ ยังวิพากย์แนวคิดการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่นักนโยบายมักอ้างอิงในฐานะเครื่องมือส่งเสริมการทำประกันสุขภาพ โดยใช้งบประมาณของรัฐซื้อชุดสิทธิประโยชน์จากผู้ให้บริการหลายเจ้า และซื้อประกันสุขภาพจากภาคเอกชน
การตีความรูปแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นนี้ แม้ไม่ผิด แต่ก็สามารถนำไปสู่ความล้มเหลวของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เพราะแนวคิดนี้เน้นที่ 'ความครอบคลุมสิทธิประโยชน์' มากกว่าการ 'การเข้าถึงบริการสุขภาพ' อาจส่งผลให้รัฐบาลนำงบประมาณไปซื้อการตรวจวินิจฉัยที่มีราคาแพงแต่ไม่จำเป็น หรือซื้อวัคซีนและและโครงการสุขภาพที่มาจากการล็อบบี้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ระบบสาธารณสุขไม่ขยายตัว แต่กำไรภาคเอกชนเติบโตแทน
นี่อาจส่งผลให้รัฐบาลจำกัดงบประมาณพัฒนาบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีความจำเป็นต่อประชากรส่วนมาก รวมทั้งกลุ่มคนยากจนและผู้อยู่อาศัยในชนบท
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลกนำเสนอโครงการใหม่เพื่อส่งเสริมบริการสุขภาพปฐมภูมิในประเทศกำลังพัฒนาผ่านโครงการกู้ยืมหรือทุนให้เปล่า รวม 1,500 ล้านยูโร
โดยดึงสี่ธนาคารยักษ์ใหญ่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาแห่งแอฟริกา (African Development Bank), ธนาคารลงทุนยุโรป (European Investment Bank), ธนาคารพัฒนาอิสลาม (Islamic Development Bank), และธนาคารพัฒนาอเมริกา (Inter-American Development Bank)
กลุ่มภาคประชาสังคมมีความเห็นว่า แม้เม็ดเงินโครงการดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
จึงเสนอให้ทำนโยบายยกเลิกหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาแทน และสนับสนุนให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณผลักดันบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพิ่มความครอบคลุมของบริการสุขภาพที่จำเป็นและพัฒนาระบบบริการที่ยั่งยืน
“การจัดบริการสุขภาพคือสินค้าสาธารณะ ไม่ใช่สินค้าทำกำไรซื้อผ่านกลไกตลาดเสรี” กลุ่มภาคประชาสังคมจับตาองค์การอนามัยโลกเน้นย้ำ ทั้งไม่ควรเห็นบริการสุขภาพปฐมภูมิเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนผ่านธนาคาร หรือส่วนหนึ่งของกลไกการกู้ยืม
“รัฐบาลนานาชาติควรพิจารณาแนวคิดทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างระมัดระวัง เน้นลักษณะการจัดบริการที่เข้าถึงถ้วนหน้า มีราคาเหมาะสม กระจายบริการ เพื่อป้องกันประชาชนจากการล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล โดยต้องช่วยประชากรทุกกลุ่ม รวมทั้งประชากรยากจนและกลุ่มเปราะบาง”
กลุ่มภาคประชาสังคมเรียกร้องให้นานาชาติมุ่งหน้าทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีรัฐนำ มุ่งเน้นคุณภาพและประสิทธิภาพบริการ การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ทำให้ประชากรทุกคนมีสุขภาพดี
ทั้งนี้ การจัดระบบบริการควรพึ่งพาเงินจากภาษีหรือใช้แนวทางการจัดบริการประกันสังคม โดยควรเปลี่ยนผ่านสู่การมีผู้ซื้อบริการเพื่อประชาชนเจ้าเดียว จะทำให้ระบบสุขภาพมีความเท่าเทียมและยั่งยืน
ขณะเดียวกัน สมาชิกขององค์การอนามัยโลกควรพิจารณาแนวทางนี้ในระหว่างการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายเดือน พ.ค. นี้
อ่านบทความต้นฉบับ:
https://peoplesdispatch.org/2024/05/05/universal-health-coverage-a-failure-of-implementation-or-strategy/
- 55 views