กลุ่มนักวิจัยภายใต้องค์กร World Weather Attribution (WWA) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีผลต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติและสภาพอากาศสุดขั้ว ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบที่ทวีความถี่และรุนแรงมากยิ่งขึ้นต่อผู้คนนับล้านคนภายในภูมิภาคเอเชีย
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2567 พบว่าประเทศภายในภูมิภาคเอเชียตะวันตก ตั้งแต่ อิสราเอล ปาเลสไตน์ ซีเรีย มาจนถึงประเทศทางตะวันออกอย่าง ไทย เมียนมา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ต่างต้องเผชิญกับ ‘คลื่นความร้อน’ ที่พุ่งขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสต่อวัน อันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง อย่างผู้ที่อยู่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง หรือกลุ่มแรงงานที่ต้องทำงานบริเวณพื้นที่กลางแจ้ง
สำหรับ ‘คลื่นความร้อน’ หรือ Heatwaves ถูกระบุว่าเป็นประเภทของสภาพอากาศสุดขั้วที่ ‘อันตรายที่สุด’ และจำนวนผู้เสียชีวิตมักถูกรายงานออกมาน้อยกว่าที่เป็น ซึ่งเพียงเฉพาะในช่วงเดือนดังกล่าว พบว่าประเทศข้างต้นนี้มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนสูง ที่ถูกรายงานออกมานับเป็นจำนวนแล้วกว่า 100 คน
คลื่นความร้อนที่สูงนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากกับกลุ่มอาชีพแรงงานก่อสร้าง คนขับรถสาธารณะ ชาวนา ชาวประมง ฯลฯ โดยส่งผลไปถึงวิถีการดำรงชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของรายได้ที่ลดลง รวมไปถึงความเสี่ยงในด้านสุขภาพ
ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากคลื่นความร้อนยังส่งผลไปถึง ‘ภาคเกษตรกรรม’ ที่ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรได้รับความเสียหายและมีจำนวนลดลง รวมไปถึง ‘ภาคการศึกษา’ ที่ในบางประเทศต้องมีการปรับการเรียนการสอน โดยเลื่อนเวลาเรียนออกไปเนื่องจากอุณหภูมิความร้อนที่สูงมากจนเป็นอันตรายต่อนักเรียนนักศึกษา
WWA รายงานว่าคลื่นความร้อนจัดนี้ ทำให้สถานศึกษาหลายพันแห่งในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องปิดทำการลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็เคยต้องถูกล็อกดาวน์กันมาแล้วในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 นั่นจึงยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติม เพิ่มช่องว่างทางการศึกษาให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อย เผชิญความเสี่ยงที่ลูกๆ ของพวกเขาต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน อันจะส่งผลเสียต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ คลื่นความร้อนยังไปบีบคุณภาพชีวิตของผู้พลัดถิ่นจากสถานการณ์สงครามในฉนวนกาซา อีกมากกว่า 1.7 ล้านคน ให้ย่ำแย่ลงไปอีก เนื่องจากการขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ยาสำหรับรักษาโรค และที่อยู่อาศัยที่ไม่สามารถระบายความร้อนได้มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือ และทางเลือกที่ผู้ลี้ภัยมีอยู่อย่างจำกัดนี้ ได้สร้างความเสี่ยงด้านสุขภาพ และความยากลำบากให้กับผู้ลี้ภัยอย่างมาก
พร้อมกันนี้ทาง WWA ยังระบุว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนในช่วงฤดูก่อนมรสุม ที่มีความถี่มากยิ่งขึ้น โดยอ้างอิงจากการศึกษา 2 ชิ้นก่อนหน้านี้ คือการศึกษาคลื่นความร้อน ในประเทศอินเดีย และปากีสถาน เมื่อปี 2565 กับการศึกษาคลื่นความร้อนชื้น ในประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ลาว และไทย เมื่อปี 2566
แม้ผลกระทบจากคลื่นความร้อนในแต่ละลักษณะจะแตกต่างกัน กล่าวคือลักษณะ ‘ร้อนแล้ง’ ในปี 2565 ส่งผลให้สูญเสียพืชผลทางการเกษตรไปอย่างกว้างขวาง ส่วนความ ‘ร้อนชื้น’ ในปี 2566 นั้นส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า แต่การศึกษาทั้งสองชิ้นไปพบว่า เหตุการณ์เหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยน้ำมือมนุษย์ ซึ่งมีผลที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนและยิ่งร้อนมากขึ้นถึงประมาณ 30 เท่า
ขณะเดียวกัน เพื่อประเมินอิทธิพลของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อคลื่นความร้อนในพื้นที่ต่างๆ ของเอเชีย กลุ่มนักวิจัยได้ทำแบบจำลองสภาพภูมิอากาศขึ้นมา โดยแสดงให้เห็นถึงความน่าจะเป็น และความเข้มข้นขึ้นอย่างมากในบริเวณฟิลิปปินส์ ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมากจนเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีกิจกรรมของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยในแบบจำลองของพื้นที่เอเชียตะวันตก พบว่ากิจกรรมของมนุษย์กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า
อย่างไรก็ตาม หากคำถึงถึงปัจจัยด้านปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่าง เอลนีโญ พบว่ามีส่วนที่ทำให้อุณหภูมิของประเทศฟิลิปปินส์ เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.2 องศาเซลเซียส แต่กลับกันในกลุ่มประเทศทางเอเชียตะวันตก แม้ไม่พบอิทธิพลของเอลนีโญ แต่อุณหภูมิกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของอุณหภูมิที่สูงในภูมิภาคแห่งนี้ ไม่ได้มาจากสาเหตุทางธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ มากกว่าที่จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรภายในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น การขยายตัวของเมืองที่ส่งผลให้พื้นที่สีเขียวลดลง อุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามประชากร รวมไปถึงความต้องการทางพลังงานที่แปรผันตามประชากรที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิในภูมิภาคเอเชียเพิ่มสูงขึ้น และเป็นความท้าทายอย่างมากต่อแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาคลื่นความร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมาก
“ตั้งแต่กาซา ไปสู่กรุงเดลี ถึงกรุงมะนิลา ผู้คนกำลังทุกข์ทรมานและเสียชีวิตจากอากาศร้อนในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าคลื่นความร้อนเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้ แต่ความร้อนที่มาจากการเผาไหม้ของก๊าซ ถ่านหิน และน้ำมัน กำลังทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิต ถ้าเรายังใช้พลังงานแบบนี้ต่อไป โลกจะยิ่งร้อนมากขึ้น และต้องมีผู้คนในกลุ่มเปราะบางที่ต้องเสียชีวิตมากขึ้นไปอีก” ดร.ฟรีเดอริก ออตโต (Friederike Otto) ที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และนักวิจัยปริญญาเอกจากสถาบันอุตุนิยมวิทยารอยัลเนเธอร์แลนด์ ขยายความ
อย่างไรก็ดี เมืองในหลายประเทศเองก็เริ่มมีแนวทางรองรับ เช่น การทำหลังกันความร้อน การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานโดยคำนึงถึงธรรมชาติ รวมไปถึงการสร้างและปรับปรุงอาคารให้รองรับกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดีย เริ่มมีมาตราการรองรับกับคลื่นความร้อนโดยเฉพาะ ด้วยการออกกฎหมายแทรกแซงรูปแบบการทำงานของแรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง ซึ่งจำเป็นต้องหยุดพักการทำงานตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมีการกำหนดชั่วโมงการทำงานของแรงงาน รวมไปถึงพื้นที่ร่มสำหรับการพักผ่อนให้แรงงาน
ทั้งนี้ นักวิชาการเครือข่าย WWA ได้ร่วมกันสรุปว่า คลื่นความร้อนที่สูงขึ้นรอบหลายปีที่ผ่านมาในภูมิภาคนี้ มีความอันตรายและน่ากังวลกับประเทศภายในภูมิภาค ที่มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก จึงมีข้อเสนอไปถึงรัฐบาลในแต่ละประเทศ ให้มีการเตรียมการวางแผนรับมือกับคลื่นความร้อน ตลอดจนการแจ้งเตือนถึงอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอีกในหลายปีข้างหน้า เพื่อปกป้องประชาชนจากสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดร.มาเรียม เศคาริยาห์ (Mariam Zachariah) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแกรนแธม ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชีย จะยิ่งทวีความอันตรายเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี จนกว่าคนทั้งโลกจะดำเนินการแก้ไขอะไรสักอย่าง ที่ยิ่งใหญ่แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไม่เช่นนั้นชาวเอเชียอาจต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดที่โหดร้ายอีกในอนาคต
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงเดือนเมษายน 2567 พบว่าประเทศไทยได้เผชิญกับอุณหภูมิสูงถึง 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส
- 144 views