ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังพัฒนาและปรับปรุงนวัตกรรมที่เรียกว่า “วงล้อดูแลสุขภาพตนเอง” เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถตัดสินใจแนวทางการดูแลสุขภาพตัวเอง และบุคลากรทางการแพทย์สามารถนำข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกมาใช้ในการทำงานได้ง่ายขึ้น

วงล้อดูแลสุขภาพตนเอง หรือ Self-Care Wheel เป็นเครื่องมือที่ชนะเลิศรางวัล LEAD Challenge ประจำปี 2566 ประเภทความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้บุคลากรภายใน WHO ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยดูแลสุขภาพประชาชน

เครื่องมือนี้ใช้ทั้งบนกระดาษและรูปแบบดิจิทัล สามารถแสดงแนวทางการดูแลตัวเองที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลกได้อย่างเข้าใจง่าย ใช้ได้ทั้งในกลุ่มคนทั่วไปและบุคลากรสาธารณสุข

ในวงล้อมีรหัสสีเช่นเดียวกับสีไฟจราจร แต่ละสีแสดงลักษณะการดูแลตนเองที่คนทั่วไปสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาบุคลากรสาธารณสุข หรือแบบที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรทางการแพทย์ 

ความคิดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้มาจากความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกในสำนักงานใหญ่และสำนักงานอินเดีย เพื่อคิดค้นนวัตกรรมประกวดในโครงการ LEAD Challenge 

ผู้พัฒนาเครื่องมือเล็งเห็นถึงความท้าทายทางสุขภาพ ที่มีประชากรโลกมากถึง 4,200 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ที่ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการสุขภาพที่จำเป็น เช่น บริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ 

การช่วยให้ผู้คนสามารถดูแลตนเองจะสามารถขยายการเข้าถึงบริการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจไข่ตกและเอชไอวีด้วยตนเอง บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยด้วยตนเอง การคุมกำเนิดด้วยการฉีดยาด้วยตนเอง และการตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วยตนเอง โดยไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก 

วงล้อการดูแลสุขภาพด้วยตนเองประยุกต์ใช้เครื่องมือที่มีอยู่เดิมเรียกว่า “วงล้อเกณฑ์ทางการแพทย์” ซึ่งระบุเกณฑ์ต่างๆ ในแต่ละวงล้อย่อยบนกระดาษ เช่น อายุ พฤติกรรมเสี่ยง และโรค ผู้ใช้วงล้อสามารถหมุนแต่ละวงล้อย่อยตามสถานะทางสุขภาพของตน เพื่อหาแนวทางการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 

ผู้พัฒนานวัตกรรมนำวงล้อนี้มาพัฒนาการใช้ในรูปแบบไฮบริด คือใช้ได้ทั้งบนกระดาษและบนพื้นที่ดิจิทัล จึงสามารถชนะรางวัลความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม พร้อมรับเงินทุน 50,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมให้ใช้ได้จริง

ในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว วงล้อดูแลสุขภาพตนเองถูกนำเสนอในงาน World Health Innovation Forum ในอินเดีย พร้อมข้อมูลการทดสอบใช้เบื้องต้นในประเทศบังกลาเทศ อินเดีย โมร็อกโก และไนจีเรีย ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท และในกลุ่มประชากรเป้าหมาย เช่น วัยรุ่นและผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ผู้ดูแลผู้ป่วย เจ้าหน้าที่สุขภาพระดับชุมชน ผู้จัดการโปรแกรมสุขภาพ และเภสัชกร 

ความคิดเห็นที่ได้รับจากผู้ทดลองใช้เครื่องมือ ได้ถูกนำมาปรับปรุงเครื่องมือให้ใช้ง่ายยิ่งขึ้นก่อนนำเสนอให้กับคณะกรรมการตัดสินของ LEAD Challenge จนกระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม
"การชนะรางวัลนี้เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ การดูแลสุขภาพตนเองมีศักยภาพในการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ วงล้อดูแลสุขภาพตนเองเป็นหนึ่งในวิธีที่เราหวังว่าจะช่วยปลดล็อกศักยภาพการดูแลสุขภาพในระดับชุมชน"
นพ. แมนจูลา นาราสิมฮาม (Manjulaa Narasimham) แห่งภาควิชาสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ องค์การอนามัยโลก กล่าว 

ภายหลังรับรางวัล เครื่องมือนี้จะถูกทดสอบอย่างละเอียดในอินเดีย โมร็อกโก และไนจีเรีย เพื่อพัฒนาเครื่องมือให้สามารถใช้ได้ในประเทศทั่วโลก

อ้างอิง: 
https://www.who.int/news/item/04-04-2024-the-self-care-wheel-an-award-winning-innovation-to-advance-sexual-and-reproductive-health-and-rights