ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาผู้บริโภค หารือ รมว.ศธ. ดันระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เสนอบรรจุแผนงานจัดการรถรับส่งนักเรียนให้เป็นหนึ่งในภารกิจหลัก เป็น


เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 สภาผู้บริโภค ได้หารือร่วมกับ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อสร้างความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นการผลักดันให้มีระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียน ภายหลังพบว่า สถานการณ์ความรุนแรงของอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในรอบหลายปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียนของเด็กและเยาวชน รวมถึงเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กำหนดมาตรการเพื่อยกระดับความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและทำให้รถรับส่งนักเรียนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สภาผู้บริโภคจึงต้องการให้ รมว.ศึกษาธิการ บรรจุแผนงานจัดการรถรับส่งนักเรียนให้เป็นหนึ่งในภารกิจหลัก และกำหนดให้ความปลอดภัยของนักเรียนในการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนเป็นวาระของ ศธ. และของทุกโรงเรียนหรือสถานศึกษา ตามมติ ครม. ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานเรื่องความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียน

น.ส.สารี กล่าวว่า การกำหนดให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการ บรรจุแผนงานจัดการรถรับส่งนักเรียนเป็นวาระหลักและเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของโรงเรียนหรือสถานศึกษา มีการประเมินและติดตามผล เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้านนโยบาย เพิ่มมาตรการกำกับกรณีโรงเรียนหรือสถานศึกษาละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ อันนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน รวมถึงขอให้สนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยเปิดให้มีการมีส่วนร่วมจากสภาผู้บริโภค กรมการขนส่งทางบก และโรงเรียนหรือสถานศึกษาในพื้นที่เป้าหมาย 20 โรงเรียน

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังได้เสนอให้ ศธ. พัฒนาหลักสูตร ชุดความรู้ แนวทางการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยนำนโยบายระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนขั้นพื้นฐาน 9 ด้านจากการทำงานของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคร่วมเป็นองค์ประกอบและแนวทางปฏิบัติให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษา บุคคลากรเขตพื้นที่การศึกษา ครู อาจารย์ นักเรียน ผู้ขับรถรับส่งนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีองค์ความรู้ หลักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดการความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียน

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า การผลักดันนโยบายด้านการขนส่งและยานพาหนะเป็นหนึ่งในนโยบาย 8 ด้านที่สภาผู้บริโภคกำลังผลักดันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ราคาค่าโดยสารสาธารณะมีอัตราไม่เกินอัตรา 10% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อวันหรือการเดินออกจากที่พักเพียง 500 เมตรและพบกับบริการขนส่งสาธารณะ ความปลอดภัยในการก่อสร้างถนนหรือโครงการสาธารณะต่างๆ รวมไปถึงการผลักดันประเด็นความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนของเด็กนักเรียนที่ขณะนี้สถานการณ์อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถรับส่งนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สภาผู้บริโภคและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินงานภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม กำหนดเป้าหมายพัฒนา ‘ต้นแบบโรงเรียนศูนย์เรียนรู้การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย’ ในโรงเรียน 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทำให้เกิดมาตรฐานการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ พร้อมสำหรับการเดินทางของนักเรียนทุกคน และสามารถเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อขยายผลการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ

ด้าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า เด็กนักเรียนที่เดินทางไปโรงเรียนโดยรถรับส่งนักเรียนจะต้องได้รับความปลอดภัย ซึ่งข้อเสนอที่สภาผู้บริโภคเสนอเข้ามานั้นมีความยินดีที่จะนำไปปรับใช้และพร้อมที่จะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ทั้งนี้ เห็นด้วยในประเด็นการลงทะเบียนรถรับส่งนักเรียน ซึ่งคนขับรถบางส่วนขึ้นตรงกับโรงเรียนด้วย จึงเป็นสิ่งที่ควรจะสนับสนุนและทำให้รถรับส่งนักเรียนถูกกฎหมายมากยิ่งขึ้นและจะทำให้โรงเรียนและชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อให้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่จะถึงนี้ สภาผู้บริโภคจะจัดเวทีสร้างความร่วมมือ หัวข้อ สานพลัง ขับเคลื่อน โรงเรียนศูนย์เรียนรู้เพื่อรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ตั้งแต่เวลา 09.00 - 15.30 น. ที่ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 1 - 2 ชั้น 3 อาคาร ทีเค. 3 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อสร้างความเข้าใจ แนวคิด และแนวทางขับเคลื่อนโรงเรียนศูนย์เรียนรู้การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลักดันข้อเสนอนโยบายและมาตรการที่จะนำไปสู่การพัฒนาการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน