ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ไทยลงนามรับรอง "ร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57" มุ่งขจัดความยากจน เพิ่มอายุคาดเฉลี่ย ลดการเสียชีวิตเด็ก-มารดา ปรับปรุงการศึกษา-บริการสุขภาพ-อนามัยเจริญพันธุ์ เผชิญหน้ากับความท้าทายโครงสร้างอายุ วิกฤตโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำรุนแรง


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน มีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ซึ่งจะมีการรับรองในช่วงการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD57) ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 3 พ.ค. 2567 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนา (Commission on Population and Development - CPD) เป็นการประชุมประจำปีในกรอบสหประชาชาติเพื่อติดตาม ทบทวน ประเมินผล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของการประชุมระหว่างประเทศเรื่องประชากรและการพัฒนา รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือประเด็นท้าทายใหม่ด้านประชากร ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ เป็นข้อมติคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จึงไม่มีความจำเป็นต้องขอรับความเห็นชอบจาก ครม.

อย่างไรก็ตาม เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการประชุม ICPD ประธานการประชุม CPD57 จึงเสนอให้มีเอกสารผลลัพธ์ในรูปแบบร่างปฏิญญาฯ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ความร่วมมือเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และความร่วมมือไตรภาคี

ทั้งนี้ เพื่อบรรลุการขจัดความยากจน การเพิ่มอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) การลดการเสียชีวิตของเด็กและมารดา การปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว โดยสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในลักษณะบูรณาการ และตระหนักถึงความท้าทายที่สำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากร ความยากจน ผลกระทบด้านลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่งทำให้ความเปราะบางและความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น และมีผลกระทบเชิงลบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการตระหนักถึงบทบาทสำคัญของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคน ในฐานะตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (agents of change) เพื่อการพัฒนา และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินการตาม PoA of ICPD และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในส่วนของประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ จากการให้ความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าว จะถือเป็นการย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการดำเนินการตาม PoA of ICPD และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศทุกระดับในการบูรณาการความเชื่อมโยงระหว่างประชากรกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อบรรลุการขจัดความยากจน การเพิ่มอายุคาดเฉลี่ย การลดการเสียชีวิตของเด็กและมารดา การปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว และความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรับมือกับวิกฤตด้านประชากร และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน ค.ศ. 2030