ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘การรอคอย’ และ ‘ความแออัด’ นับเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลของรัฐ บ้างก็ต้องเดินทางออกจากบ้านตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน และใช้เวลาไปเกือบครึ่งวันอยู่ในโรงหมอ

อย่างไรก็ตาม แม้ระยะเวลารอคอยเพื่อพบแพทย์ว่านานแล้ว แต่อีกส่วนที่สร้าง Pain Point ให้กับผู้ป่วยได้ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ‘การรอรับยา’

จากปัญหาดังกล่าว ประกอบกับช่วงของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่จำเป็นต้องลดความแออัดภายในโรงพยาบาล ทำให้ ‘การเปิดบริการรับยาอย่างต่อเนื่องจากร้านยาคุณภาพนอกโรงพยาบาล’ เป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อลดการให้บริการของผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นในโรงพยาบาลลง

ในวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 ม.ค. - มี.ค 2567 จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้มีการศึกษาเรื่องการ ‘ถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาชุมชน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล’ ซึ่งระบุเอาไว้ช่วงหนึ่งถึงความเป็นมาว่า ปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่เกิดจากผู้รับบริการมากกว่าครึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเมือง ที่แม้จะมีสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการใกล้บ้านสามารถให้บริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เฉพาะทาง แต่ก็ยังพบว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ทุเลา หรือในอีกกรณีคือ ‘ไม่ศรัทธาในคุณภาพของการรักษา’

ขณะเดียวกันเมื่อเขตเมืองยังมีหน่วยบริการปฐมภูมิไม่ครอบคลุมเพียงพอ ฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหา ‘ความแออัด’ นั้นก็คือ ‘การพัฒนาบริการปฐมภูมินอกโรงพยาบาลใหญ่’ ให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ และสามารถดูแลต่อเนื่องได้ ในกรณีผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคเรื้อรังที่มีสภาพเวชกรรมคงที่

ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2562 จึงได้มีมติเห็นชอบโครงการลดความแออัด ลดระยะรอคอยรับยาของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล โดยให้มารับยาที่ ‘ร้านยาแผนปัจจุบัน’ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาเภสัชกรม และสมาคมเภสัชกรชุมชน (ประเทศไทย) ร่วมดำเนินโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท)

ประชาชนต้องการ ‘ตรวจคัดกรอง-รักษาเบื้องต้น’ ในร้านยา

ในการศึกษาดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากประชาชนที่อยู่ภายใต้สิทธิบัตรทอง โดยอาศัยการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา จำนวน 225 ราย ในจำนวนนี้จำแนกเป็นกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ใน กทม. จำนวน 125 ราย และปริมณฑล จำนวน 130 ราย (จ.สมุทรปราการ และนครปฐม) ประกอบกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ เช่น เจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารโรงพยาบาล เจ้าของร้านยาชุมชนที่เข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้าน เครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง

จากผลการศึกษาด้านความต้องการของผู้ใช้บริการพบว่า การตรวจคัดกรอง และรักษาโรคเบื้องต้น เป็นบริการที่ประชาชนหรือผู้รับบริการต้องการสูงที่สุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.92 คะแนน รองลงมาคือการเติมยาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การดูแลฉุกเฉินในด้านต่างๆ เกี่ยวกับยา และการฉีดวัคซีน โดยมีคะแนนความต้องการเฉลี่ย 4.87 คะแนน 4.86 คะแนน และ 4.85 คะแนนตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ความต้องการเพิ่มเติมด้าน การวัดความดัน การตรวจคัดกรองโรค และรักษาเบื้องต้น รวมถึงการดูแลฉุกเฉินในด้านต่างๆ ของร้านยาชุมชนนั้น พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเข้าร่วมโครงการลดความแออัดโรงพยาบาล ซึ่งหากมีการขยายบริการเพิ่มเติมเหล่านี้ จะเป็นส่วนที่ช่วย ‘สนับสนุน’ หรือ ‘เพิ่มโอกาส’ ให้ประชาชนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการลดความแออัดของโรงพยาบาลมากขึ้น

‘โครงการรับยาใกล้บ้าน’ ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

ขณะเดียวกัน จากการสรุปความคิดเห็นที่ได้ในการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เภสัชกรเจ้าของร้านยาชุมชน จำนวน 70 ร้าน และเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมร้านยา สมาคมผู้บริการโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 24 ราย พบว่ามีความเห็นตรงกันว่า ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลยังคงมีอยู่ และควรได้รับการแก้ไข ซึ่งร้านยาชุมชนเห็นว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความแออัดในการเข้ารับบริการได้

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลกลับมีความเห็นว่าโครงการรับยาใกล้บ้านยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาความแออัดในการเข้ารับบริการได้ แม้ว่าจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ก็ตาม ซึ่งแนวทางการดำเนินโครงการที่น่าจะเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนมากที่สุด คือ ‘การสนับสนุนงบประมาณให้แก่ร้านยาชุมชน’ เพื่อการบริหารจัดการสต็อกยาเอง โดยจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งยาของโรงพยาบาลแม่ข่าย และทำให้ร้านยาชุมชนมีความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น

มากไปกว่านั้น ร้านยาชุมชนมีข้อสังเกตว่าภาครัฐควรเจรจากับบริษัทตัวแทนจำหน่ายยา เพื่อให้ร้านยาชุมชนสามารถซื้อยาได้ในราคาเท่ากับที่ทางโรงพยาบาลจัดหา

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 ภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่าโครงการรับยาใกล้บ้านนั้น ‘ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร’ เนื่องจากมีประชาชนหรือผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก และควรมีการประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรับทราบและเห็นถึงประโยชน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์โครงการให้ทีมแพทย์ประจำโรงพยาบาลเข้าใจหลักการดำเนินงานและประโยชน์ของโครงการ หากภาครัฐต้องการให้โครงการประสบความสำเร็จมากกว่านี้

หากรัฐจะถ่ายโอน ‘บริการด้านยา’ ควรพิจารณาถึง ‘ค่าตอบแทน’ 

จากผลการศึกษาด้านการประเมินต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการขยายบริการด้านยาสู่ร้านยาชุมชนนั้น พบว่าบริการที่ร้านยาชุมชนสามารถถ่ายโอนจากโรงพยาบาลมายังร้านยาได้มีทั้งหมด 8 บริการ ได้แก่ 1. การวัดความดัน 2. การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องยา และดูแลการจัดการยาให้เหมาะสมกับคนไข้ 3. การอธิบายผลข้างเคียงของยา และการติดตามอาการที่ไม่พึงประสงค์ของยา 4. การให้คำปรึกษาผ่านอีเมล โทรศัพท์ และช่องทางอื่นๆ 5. การตรวจคัดกรองโรค และการรักษาโรคเบื้องต้น 6. การเติมยาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน 7. การวัดระดับน้ำตาลในเลือด 8. การจัดส่งยาถึงบ้าน

ขณะเดียวกัน จากการขยายบริการด้านยาดังกล่าว หากมองในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มเติมขึ้นมานั้น ร้านยาชุมชนเห็นตรงกันว่า ‘ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมีไม่มาก และเป็นต้นทุนผันแปร’ ทว่า ‘ต้นทุนทางด้านเวลา หรือค่าเสียโอกาสของร้านยา’ จะเป็นต้นทุนหลักๆ ที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องมีการสละเวลาดูแล หรือขายยาให้กับลูกค้า เพื่อมาให้บริการด้านอื่นๆ ที่ถ่ายโอนมาจากโรงพยาบาล

ฉะนั้นแล้ว หากภาครัฐต้องการผลักดันให้เกิดการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาล มายังร้านยาในอนาคตนั้น ควรพิจารณถึง ‘ค่าตอบแทน’ ดังกล่าวให้กับร้านยาด้วย

โครงการ ‘ลดความแออัด’ สอดรับ ‘30 บาทรักษาทุกที่ฯ’ 

จากบทสัมภาษณ์ของ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 ที่เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงบริการเพิ่มเติมนอกเหนือจาก ‘กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย รับยาได้ที่ร้านยา’ หรือ ‘Common Illness’ ยังมีโครงการ ‘ลดความแออัดในโรงพยาบาล’ ที่จะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ในกรณีที่ประชาชนมีอาการคงที่ และต้องได้ยาต่อเนื่อง โดยแพทย์จะออกใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Prescription) พร้อมกับส่งมายังร้านยาที่เป็นเครือข่าย

โดยในส่วนของบริการที่จะขยายออกไปนั้น ยังมี ‘บริการคัดกรองโรค’ อีกด้วย เช่น ในกรณีอายุต่ำกว่า 35 ปี จะมีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เพื่อดูภาวะอ้วน รวมถึงการวัดความดัน คัดกรองสารเสพติด การดูแลสุขภาพทั่วไป ส่วนในกรณีที่มีอายุมากกว่า 35 ปีนั้น จะมีบริการตรวจวัดระดับน้ำตาล ดูความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับหลอดเลือด และหัวใจ เป็นต้น