ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อินเดียริเริ่มบริการ “สแกนและแชร” ใช้คิวอาร์โคดลงทะเบียนผู้ป่วย ช่วยลดการรอคิว และรวบรวมข้อมูลผูป่วยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

วิคราม ธาพลู (Vikram Thaploo) ซีอีโอบริษัท Apollo Telehealth ในอินเดีย ได้แสดงความคิดเห็นผ่านบทความในสำนักข่าวธุรกิจ Financial Express ว่าอินเดียกำลังผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการสุขภาพ

สุขภาพดิจิทัล หรือ Digital Health เข้ามามีบทบาทในระบบสุขภาพของอินเดียมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยผู้ให้บริการหลายเจ้าเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดูแลและติดตามผู้ป่วย

หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมในวงการ คือ บริการ “สแกนและแชร์” หรือ Scan and Share Service ซึ่งสำนักงานสุขภาพแห่งชาติของอินเดีย (National Health Authority) เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบลงทะเบียนผู้ป่วยนอก ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 เป็นต้นมา และมีโรงพยาบาล 365 เดินรอยตาม

บริการสแกนและแชร์ ทำในรูปแบบของการใช้คิวอาร์โคด โดยผู้ป่วยสามารถใช้โทรศัพท์มือถือสแกนคิวอาร์โคดที่จุดรับลงทะเบียนในโรงพยาบาล และรับบัตรคิวได้ทันที ขณะที่ระบบจะส่งข้อมูลของผู้ป่วยที่บันทึกอยู่ในระบบไปยังเจ้าหน้าที่ ลดเวลาการสอบถามข้อมูลผู้ป่วยในระหว่างการลงทะเบียน

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถใช้บริการสแกนและแชร์ได้ โดยทำบัตรผู้ป่วยกับโรงพยาบาล และรับบัตรที่มีคิวอาร์โคด แล้วนำบัตรไปสแกนที่จุดลงทะเบียนของโรงพยาบาลเพื่อนำข้อมูลส่วนตัวเข้าสู่ในระบบ  

เทคโนโลยีนี้แก้ปัญหาได้ตรงจุด เนื่องจากเวลาการรอคิวในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เสียไปกับการกรอกประวัติผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ อายุ เพศ และที่อยู่ ส่งผลให้การรอคิวยาวนานตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง จนถึงทั้งวัน และยังเพิ่มความเสี่ยงติดโรคในขณะนั่งรอคิว

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยียังสามารถลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลได้อีกด้วย โดยเฉพาะในจุดลงทะเบียนที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก มีเสียงดังรบกวน ทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฟังข้อมูลผิดพลาด หรือกรอกข้อมูลตกหล่นด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มากเป็นหลักหลายร้อยต่อวัน

บริการสแกนและแชร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Ayushman Bharat Digital Mission (ABDM) ภายใต้รัฐบาลอินเดีย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบสุขภาพ
บริการดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากบริการสแกนคิวอาร์โคดจ่ายเงินซื้อสินค้า ด้วยระบบ Unified Payment Interface ซึ่งนิยมใช้ในร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าออนไลน์ และบริการจ่ายค่ามือถือในอินเดีย

ในปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการสแกนและแชร์แล้วประมาณ 500,000 คน มีโรงพยาบาลนำไปใช้แล้วใน 125 อำเภอ ครอบคลุม 25 รัฐ  รัฐที่มีคนใช้บริการมากที่สุด คือ รัฐกรณาฏกะ (250,000 คน) รัฐอุตตรประเทศ (110,000 คน) และ เดลี (72,000 คน)

นอกจากจะลดเวลารอคิวให้กับผู้ป่วยแล้ว บริการสแกนและแชร์ยังส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพดิจิทัล โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจ การรักษาและใช้ยา ผ่านระบบออนไลน์ และแสดงให้แพทย์ดูเมื่อเปลี่ยนสถานพยาบาล

สำนักงานสุขภาพแห่งชาติยังสามารถติดตามจำนวนผู้ป่วยในแต่ละสถานพยาบาลได้แบบเรียลไทม์ รวมทั้งดูประวัติการรักษา สามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการวางแผนบริการสุขภาพได้อีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่างเชื่อว่า บริการสแกนและแชร์เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพของอินเดียให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีบริการคุณภาพอีกด้วย

อย่างไรก็ดี บริการสแกนและแชร์ไม่ใช่บริการดิจิทัลหนึ่งเดียวในอินเดีย แต่ยังมีอีกหลายบริการที่ริเริ่มขึ้นภายหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19

เช่นในกรณีของแอพพลิเคชั่นมือถือ Aarogya Setu ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ข้อมูลระดับชาติ ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีข้อมูลและอิเล็คทรอนิกส์ ช่วยติดตามสถานภาพการรักษาของผู้ป่วยโควิด และเปิดช่องทางให้ประชาชนจองวัคซีนต้านโควิด

ธาพลู เชื่อว่า ข้อมูลการลงทะเบียนผู้ป่วยบริการสแกนและแชร์ อาจนำไปสู่บริการดิจิทัลสุขภาพใหม่ๆในอนาคต เพราะรวบรวมข้อมูลประชากรและสุขภาพจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี แม้ระบบสุขภาพดิจิทัลของอินเดียกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยังต้องเร่งทำมาตรการปกป้องข้อมูลของผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือเกิดการหลุกของข้อมูลออกไปสู่สาธารณะ  
อ่านบทความต้นฉบับ

https://www.financialexpress.com/healthcare/healthtech/scan-and-share-service-a-digital-journey-towards-achieving-universal-health-coverage/3094396/