ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของ ‘อินเดีย’ จะเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง แต่อินเดียกลับติดอยู่ในรายชื่อกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางล่าง เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ 

ทุกวันนี้ ประชากรอินเดียมากกว่า 20% ที่มีฐานะยากจน และภาระทางโรคของประชากรในภาพรวมยังถือว่าสูงมาก 

ในส่วนของระบบสุขภาพ ถือว่ามีความเหลื่อมล้ำสูง กว่า 70% ของบริการสุขภาพกระจุกตัวในภาคเอกชน ซึ่งกระจุกตัวในเขตเมือง มีขนาดเล็ก และขาดการกำกับควบคุม ขณะที่โรงพยาบาลรัฐขาดงบประมาณและศักยภาพ การเข้าถึงบริการสุขภาพจึงไม่ทั่วถึงและเท่าเทียม 

นั่นเป็นเพราะการลงทุนด้านสุขภาพของอินเดียอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลอยู่ที่ 2.1% ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ค่าใช้จ่านด้านสุขภาพของครัวเรือนอยู่ที่ 62% ของค่าใช้จ่ายสุขภาพประเทศ ส่งผลให้ประชากรมากกว่า 60 ล้านคนล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลในแต่ละปี 

ด้วยปัญหานี้ รัฐบาลอินเดียภายใต้นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมที (Narendra Modi) จึงริเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งอินเดีย หรือชื่อทางการ ‘Ayushman Bharat’ ในปี 2561 

โดยตั้งเป้าหมายลดภาระทางโรคและการรักษาพยาบาล ด้วยการยกระดับศูนย์ปฐมภูมิที่มีอยู่เดิมตามพื้นที่ชนบท ให้เป็น “ศูนย์สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” เน้นบริการดูแลสุขภาพแม่และเด็กและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อให้ครัวเรือนยากจนในชนบทเข้าถึงการรักษาเบื้องต้นที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ 

นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังเปิดโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรียกว่า Pradhan Mantri Jan Arogya Yojana หรือ PM-JAY ในปีเดียวกัน สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง 550 ล้านคน คิดเป็น 40% ของประชากรในอินเดีย

PM-JAY ยังมีเป้าหมายจูงใจให้ภาคเอกชนขยายบริการไปยังเมืองรอง และร่วมมือกับโรงพยาบาลภาครัฐในการรักษาผู้ป่วยยากจน 

ในส่วนของการพิจารณาประชากรกลุ่มเปราะบางในชนบทนั้น ดูจากเกณฑ์ 6 ข้อ ได้แก่ ขนาดที่อยู่อาศัย สมาชิกครอบครัวต้องไม่มีวัยแรงงานหรือเพศชายที่มีอายุ 16-59 ปี มีผู้พิการในบ้าน อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ หรือไม่มีที่ทำกินและทำอาชีพแรงงาน 

ประชากรในเขตเมืองที่มีสิทธิรับการรักษาภายใต้ PM-JAY ต้องทำอาชีพที่มีรายได้น้อย เช่น เก็บขยะ รับใช้ในบ้าน งานก่อสร้าง หรือช่างไฟ เป็นต้น 

ในส่วนของรูปแบบการเงินการคลัง รัฐที่เข้าร่วม PM-JAY สามารถเลือกรูปแบบการบริหารหนึ่งจาก 3 ประเภท ได้แก่ 

1) บริหารในรูปแบบทรัสต์ คือหน่วยงานสุขภาพในระดับรัฐและรัฐบาลกลางร่วมจ่ายค่าประกันสุขภาพในอัตราส่วน 60:40 

2) หาบริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหาร PM-JAY

3) ใช้รูปแบบผสมผสานโดยอาจมีบริการสุขภาพบางส่วนที่ประกันโดยเงินจากกองทุนทรัสต์ และบางส่วนโดยบริษัทประกันเอกชน 

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการคัดเลือกโรงพยาบาล และกำหนดเกณฑ์โรงพยาบาลที่เข้าร่วม PM-JAY เพื่อให้แน่ใจว่าบริการสุขภาพจะมีคุณภาพ ทั้งยังมีแนวทางให้โบนัสกับโรงพยาบาล เพื่อจูงใจให้เพิ่มคุณภาพการให้บริการ

แม้โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าอินเดียจะตั้งมาไม่นาน กลับมีบทบาทอย่างมากเมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในต้นปี 2563 

จนกระทั่งตอนนี้ PM-JAY ครอบคุลมค่ารักษาพยาบาลให้กับประชากรมากกว่า 23 ล้านคน และบริการผู้ป่วยในที่เกี่ยวข้องกับโรค-19 ประมาณ 160,000 ครั้ง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 9,000 ล้านบาทให้กับผู้ป่วย ทั้งยังครอบคลุมบริการตรวจโรค พีพีอี รถพยาบาลฉุกเฉิน เทเลเมดิซิน และค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้ การสร้างศูนย์สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 1.2 ล้านแห่งก่อนเกิดการระบาด ได้เสริมศักยภาพระบบสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 และการป้องกันโรคในเขตพื้นที่ชนบท

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายหลายด้านที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะความไม่ลงรอยของอุปสงค์และอุปทาน ที่มีผู้ป่วยต้องการบริการสุขภาพมากเกินกว่าศักยภาพผู้ให้บริการ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และการขาดแคลนงบประมาณจากรัฐบาล 

นอกจากนี้ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังเน้นเพียงบริการรักษาโรค ซึ่งอาจสร้างภาระทางการเงินเมื่อต้องดูแลประชากรจำนวนหลักร้อยล้านคนในบริบทของอินเดีย การเน้นบริการส่งเสริมและป้องกันโรค และให้ความรู้ด้านสุขภาพจึงมีความจำเป็นอย่างมาก 

พร้อมต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชากรดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น การเพิ่มเงินสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลให้บุคคลที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ผู้ที่ไปตรวจร่างกายประจำปีอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่และแอลกอฮอล หรือรักษาค่าดัชนีมวลกายที่บ่งชี้ว่ามีสุขภาพดี

ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเงินการคลัง ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้อินเดียพิจารณาทำระบบประกันสุขภาพเดียว แทนที่จะแยกบริหารโดยรัฐย่อย ซึ่งนอกจากจะทำให้เงินรั่วไหลได้แล้ว ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างรัฐด้วยสิทธิประโยชน์และจำนวนงบประมาณที่ต่างกัน 

นอกจากนี้ ควรพิจารณาขยายความครอบคลุมไปยังประชากรกลุ่มอื่นๆนอกเหนือจากประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ที่แม้จะมีเงินเดือนและรถยนต์ แต่ก็ยังมีควาเสี่ยงล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้เช่นกัน

อ่านข่าวต้นฉบับ
https://www.cureus.com/articles/162060-universal-health-care-system-in-india-an-in-depth-examination-of-the-ayushman-bharat-initiative#!/