ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จัดเวทีให้ อคม.-และกลไกภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ทั้งจากระดับประเทศ – ระดับพื้นที่ สรุป-ทบทวนการทำงาน 4 ปี พร้อมสรุปเป็นเข็มมุ่งยกระดับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ‘นพ.สุพรรณ’ ชี้ยุคถัดไปการดูแลคุณภาพบริการต้องเน้นมีการมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ กำกับติดตามผ่านกลไกข้อมูลสารสนเทศ ด้านเลขาฯ สปสช. หวังคำร้อง ปัญหาการรับบริการ เป็นข้อมูลสำคัญให้ทุกภาคส่วนยกระดับหลักประกันสุขภาพให้ดีขึ้น  


เมื่อวันที่ 25-26 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุม ‘เหลียวหลังแลหน้า' การควบคุมคุณภาพและมาตฐานบริการสาธารณสุขและการคุ้มครองสิทธิในระดับพื้นที่ และข้อเสนอการดำเนินงานในระยะถัดไป ที่เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ร่วมเปิดการประชุม และยังมี คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) จากทุกเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ผู้แทนคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ ผู้แทนคณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น (มาตรา 41) ผู้แทนศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง ตามมาตรา 50(5 ) และกลไกอื่นๆ เข้าร่วมกว่า 300 คน ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี  
 
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. กล่าวเปิดการประชุม พร้อมกับปาฐกถาในหัวข้อ ‘4 ปีของการขับเคลื่อนคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และข้อเสนอทิศทางในระยะถัดไป’ ตอนหนึ่งว่า จากระยะ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงยุคสมัยการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มุ่งเน้นการบริการสาธารณสุขบนมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่ง อคม. และคณะทำงานภาคีเครือข่ายได้ร่วมดูแลมาตรฐานต่างๆ ในการบริการ รวมถึงลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ และที่สำคัญคือเป็นการนำปัญหา หรือข้อร้องเรียน คำร้องต่างๆ จากประชาชนมาเสนอต่อคณะทำงานที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปปรับปรุงเพื่อพัฒนาการบริการสุขภาพในระยะถัดไป  
 
นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า ระยะที่ผ่านมาคณะทำงานภาคีเครือข่ายที่ร่วมกัน ทั้ง อคม. ผู้แทน สปสช. เขตระดับพื้นที่ ตัวแทนศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองทั่วประเทศ หรือหน่วย 50(5) เดิม และภาคประชาชนก็ยังร่วมกันทำงานเพื่อส่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพฯ โดยเฉพาะกับการช่วยเหลือให้ประชาชนที่ไม่เคยมีสิทธิมาก่อนได้รับสิทธิทางสุขภาพ และยังคงสานต่อการทำงานที่จะมุ่งเน้นการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนให้มากขึ้น  

2
 
“อย่างไรก็ดี อคม. และภาคีเครือข่ายการทำงานทุกภาคส่วน ก็ยังต้องขับเคลื่อนการติดตามเพื่อดูแลการบริการสุขภาพในโครงการของรัฐที่ส่งเสริมระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะกับการติดตามการให้บริการจากนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ทั้งจังหวัดที่นำร่องไปแล้ว และจังหวัดที่กำลังจะดำเนินการให้ครบทุกพื้นที่ในสิ้นปี 2567 เพื่อนำข้อมูลและปัญหาที่พบสะท้อนเพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการต่อไป” นพ.สุพรรณ กล่าว  
 
นพ.สุพรรณ กล่าวตอนหนึ่งด้วยว่า ในระยะต่อไปจะเป็นยุคสมัยของการยกระดับหลักประกันสุขภาพฯ ในด้านการดูแลพัฒนาการให้บริการอย่างมีคุณภาพ มาตรฐานอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งบทเรียนการทำงานในช่วงที่ผ่านมาของเครือข่าย จะได้มีการสรุปเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันในระยะถัดไป  
 
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ สปสช. พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ โดยเฉพาะอคม. ทั้งในระดับส่วนกลาง และระดับพื้นที่ ที่ได้ขับเคลื่อนงานควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ได้สรุปและทบทวนการทำงาน พร้อมกับเสนอผลงานขับเคลื่อนที่โดดเด่นในระยะที่ผ่านมา และยังได้ร่วมกันประชุมเพื่อหารือในการร่วมกันกำหนดทิศทางเพื่อให้เป็นเข็มมุ่ง ที่สรุปเป็นข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพมาตรฐานต่อระบบหลักประกันในสมัยต่อไป และมีแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระยะต่อไปร่วมกัน 

1
 
“ทั้งนี้ คาดหวังว่าการประชุมในครั้งนี้ จะเกิดเป็นการลไกการทำงานร่วมกันในการควบคุมกำกับคุณภาพ มาตรฐานบริการสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างภาคีเครือข่ายในระดับส่วนกลางและระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะเป็นการร่วมกันพัฒนาในด้านการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330  
2.ช่องทางออนไลน์ 
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ