ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.เคาะเสนอขอรับจัดสรรงบ พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 3,844 ล้านบาท หนุนค่าบริการกรณีโควิด-19 ต่อเนื่อง เพิ่มเข้าถึงการรักษา-คัดกรอง ครอบคลุมค่าบริการฉีดวัคซีนให้ประชาชน


ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอรับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ พ.ศ.2563 เพิ่มเติมจำนวนวงเงินไม่เกิน 3,844 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการกรณีโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน 

สำหรับงบประมาณที่เสนอเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นการเบิกจ่ายค่าบริการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2,446.76 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 445.62 ล้านบาท ค่าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 840 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการโควิด-19 อีกจำนวน 110.88 ล้านบาท

ทั้งนี้ในส่วนของค่าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 840 ล้านบาท เป็นคำของบประมาณเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการในอัตรา 20 บาทต่อโด้ส จากปีงบประมาณ 2564 ซึ่งมีแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจำนวน 42 ล้านโด้ส ขณะที่ในส่วนอีก 21 ล้านโด้ส จะเป็นการให้บริการหลังเดือน ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของปีงบประมาณถัดไป

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เปิดเผยว่า การสนับสนุนบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ได้เริ่มให้บริการฉีดไปแล้วนั้น ถือเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเข้าวัคซีนและทยอยฉีดให้กับประชาชนต่อไป เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันภาวะโรครุนแรง ลดอัตราความเจ็บป่วยและเสียชีวิตให้กับประขาชน

ขณะที่ผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 14 ก.พ. 2564 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในเบื้องต้นจำนวน 2,228 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ พ.ศ.2563 จำนวน 9,200 ล้านบาท ได้เบิกจ่ายให้กับบริการป้องกันและรักษาพยาบาลไปแล้วจำนวน 443,243 คน รวมเป็นเงิน 1,247.70 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 600 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้มีงบคงเหลือจำนวน 980.98 ล้านบาท

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ข้อเสนอขอรับงบจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมจากรัฐบาลวงเงินไม่เกิน 3,844 ล้านบาทในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ก่อนหน้านี้ เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขกรณีโควิด-19 โดยแยกจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตามปกติเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

"ภายหลังที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 กองทุนบัตรทองได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีโควิด-19 เป็นการเฉพาะ ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขกรณีโควิด-19 ถือเป็นบทบาทของกองทุนบัตรทอง" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว