นับตั้งแต่ปี 2508 ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้น มาถึงปัจจุบันที่เกือบ 60 ปี สถาบันการแพทย์แห่งนี้ก็สร้างคุณประโยชน์ให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะการผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบ การเป็นคลังสมองของการวิจัยทางการแพทย์ รวมไปถึงการบริการทางการแพทย์ระดับสูงให้กับผู้ป่วย ซึ่งคนไทยจะรู้จักกันดีในชื่อโรงพยาบาลรามาธิบดี
ปัจจุบัน การพัฒนาของคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้การนำของคณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาฯ คนปัจจุบัน ‘ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์’ ที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนให้คณะแพทย์ศาสตร์รามาฯ เป็นสถาบันการแพทย์ให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งด้านการเรียนการสอน ที่ผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบเพื่อดูแลคนไทย การวิจัยทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นให้สอดรับกับสถานการณ์สุขภาพในปัจจุบัน และการยกระดับการบริการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยคุณภาพมาตรฐานที่สูงกว่าเดิม
บ่ายวันที่ 20 ก.พ. 2567 The Coverage มีโอกาสและได้รับเกียรติ เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ศ.คลินิก.นพ.อาทิตย์ ทำให้เห็นวิสัยทัศน์และก้าวย่างของคณะแพทย์ศาสตร์ ที่จะเชื่อมไปถึงการยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศในยุคดิจิทัล
ทั้งการผลิตแพทย์ยุคใหม่ที่จะเป็น ‘หมอไฮบริด’ ด้วยหลักสูตรผสมผสานองค์ความรู้
การสานความร่วมมือผลิตหมอทั้งในประเทศ และจับมือกับต่างประเทศร่วมผลิตพยาบาลให้
มากไปกว่านั้น ยังเห็นถึงการลงทุนในอนาคตโรงพยาบาลรามาฯ ที่เป็นโรงพยาบาลที่พึ่งของคนไทย จะขยับขยายด้วยอาคารผู้ป่วยใหม่มูลค่าหมื่นล้าน พร้อมกับยกระดับการรักษาให้กับคนไทยทุกสิทธิด้วยคุณภาพสูง
ยุคสมัยเปลี่ยน การผลิตแพทย์ก็ต้องปรับตาม
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกเล่าถึงภารกิจหลักของคณะแพทยศาสตร์รามาฯ คือการผลิตบุคลากรสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมไปถึงการสร้างงานวิจัยเพื่อเป็นองค์ความรู้ใหม่ให้กับประเทศ
รวมไปถึงภารกิจหน้าที่การให้บริการสุขภาพกับประชาชน ซึ่งตัวอย่างที่สะท้อนภาพให้ชัดเจนมากที่สุด คือ การให้บริการของโรงพยาบาลรามาฯ ที่ประชาชนรู้จักกัน
อย่างไรก็ตาม คณะแพทยศาสตร์รามาฯ มีจุดเน้นที่สำคัญคือ การผลิตแพทย์จบใหม่เข้าสู่ระบบสุขภาพ โดยปัจจุบัน ผลิตได้ปีละประมาณ 200 คน พยาบาลอีกปีละ 300 คน ซึ่งตลอดเวลา 60 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ในปี 2508 มาถึงปัจจุบัน ก็มีแพทย์ที่จบไปทำงานดูแลประชาชนนับหลายพันคน
แต่กระนั้นก็ตาม ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ มองว่า พัฒนาการทางการแพทย์ในทุกวันนี้ไม่เหมือนเดิม และเราไม่อาจพึงพาเรื่องการแพทย์อย่างเดียวได้แล้ว จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางด้านวิศวกรรมเข้ามาหนุนเสริมด้วย
เพราะปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทางการแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการเกิดขึ้นของนวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์จำนวนมาก ที่แพทย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยเพื่อให้ผลที่ดีขึ้น หรือแม้แต่การใช้ประโยชน์ทางด้านสุขภาพเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
แต่คนที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ที่เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ได้ ก็ต้องเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญ และสามารถพัฒนาเครื่องมือ นวัตกรรมทางการแพทย์ควบคู่ไปกับความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมด้วย
“เมื่อเราต้องการคนที่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ และต้องการคนที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมด้านการแพทย์แบบนี้ด้วยมากขึ้น เราก็ต้องผลิตขึ้นมาเอง” คณบดีคณะแพทยศาตร์รามาฯ กล่าว
สร้าง ‘หมอไฮบริด’ แพทย์นวัตกร-แพทย์บริหารจัดการ
นั่นจึงเป็นที่มาของการรวม หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และหลักสูตรวิศวกรรมมหาบัณฑิต เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการร่วมมือของ คณะแพทยศาตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีชื่อว่าหลักสูตร ‘แพทย์นวัตกร’ โดยมีระยะเวลาศึกษา 7 ปี นักศึกษาที่จบออกมาจะได้ 2 ปริญญา คือ ปริญญาตรีแพทยศาสตร์ และปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์
นั่นจะทำให้นักศึกษาที่จบออกมา ก็จะเป็นแพทย์ที่สามารถคิดค้น หรือมีโอกาสสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อมาใช้กับระบบสุขภาพมากขึ้น รวมไปถึงเป็นแพทย์ที่สามารถเลือกใช้ และเชี่ยวชาญการใช้งานนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยที่จะมีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่สูงมากขึ้น
ศ.คลินก นพ.อาทิตย์ อธิบายถึงหลักสูตรนี้ว่า นักศึกษาแพทย์ที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้ จะเรียนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และด้านการแพทย์ก่อน 3 ปี เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 จะไปเรียนกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการเรียนรู้การสร้างนวัตกรรม เครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยจะเป็นหลักสูตรการทำผลงานวิจัยของนักศึกษาชั้นปริญญาโท
จากนั้นเมื่อจบชั้นปีที่ 4 จะกลับมาเรียนกับคณะแพทย์ศาสตร์จนจบชั้นปีที่ 7 ซึ่งจบมาแล้วนักศึกษาหลักสูตรนี้จะเป็นแพทย์ ไมใช่วิศวกร และจะได้รับใบปริญญา 2 ใบ
มากไปกว่านั้น คณะแพทยศาสตร์รามาฯ ยังมีหลักสูตร ‘แพทย์นักบริหาร’ ซึ่งก็คล้ายกลับหลักสูตรแพทยนวัตกร แต่จะมุ่งเน้น เพื่อส่งเสริมให้แพทย์มีทักษะและความพร้อมในการบริหารจัดการโรงพยาบาล และองค์กรด้านสาธารณสุขตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ โดยเป็นหลักสูตรที่ร่วมมือกับ หลักสูตรเรียนแพทย์ 6 ปี บริหาร 1 ปี ร่วมมือกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ยังมีหลักสูตร นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ นอกจากหลักสูตรปกติ ยังร่วมมือกับภาควิชาฉุกเฉินการแพทย์และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อผลิต ‘นักฉุกเฉินการแพทย์’ ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือ “Sport Paramedic” ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ยังขาดแคลนในประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีก็ผลิตบุคลากรด้านนี้ได้ปีละ 40 คน
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ ให้ภาพปัจจุบันของหลักสูตรแพทยศาสตร์ นักศึกษาทั้ง 2 หลักสูตรที่ผสมผสานเฉลี่ยแล้วจะเปิดรับรวม 40 คนต่อปี ซึ่งที่เหลือจะเลือกเรียนหลักสูตรแพทยศาสตร์ตามปกติ ซึ่งแต่ละปีจะมีประมาณ 170 คน
“อย่างหลักสูตรแพทย์นวัตกร นักศึกษาแพทย์หลายคนสนใจผลิต คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ อย่างเช่นบางคนสนใจการพัฒนาระบบสั่งการสมองไปยังหุ่นยนต์เพื่อใช้ทางการแพทย์ หรือบางคนสนใจสร้างระบบ AI เพื่อเอาไปใช้ทางการแพทย์ รวมถึงบางส่วนก็สร้างนวัตกรรรมที่จะช่วยบริหารจัดการผู้ป่วยในโรงพยาบาลดีขึ้น ตัวอย่างเหล่านี้ต่อไปจะเป็นกำลังทรัพยากรสำคัญในการยกระดับมาตรฐานของระบบสุขภาพประเทศให้สูงขึ้น และทำให้ประเทศไทยสามรถผลิตบุคลกรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก” คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาฯ กล่าว
นอกจากการยกระดับหลักสูตรแพทยศาสตร์ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะแพทย์ศาสตร์รามาฯ ก็ยังสร้างเครือข่ายในการผลิตแพทย์ร่วมกับหลายภาคส่วน ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ เสริมเรื่องนี้พร้อมกับยกตัวอย่างความร่วมมือกับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ที่มีศูนย์แพทย์สหศึกษา ซึ่งคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ก็รับมาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งแต่ละปีจะมีประมาณ 40 คนที่ผลิตเข้าสู่ระบบและทำงานที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
รวมไปถึงยังมีความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการส่งนักศึกษาพยาบาลจากจีนมาเรียนหลักสูตรพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจีนที่เมื่อเรียนจบแล้วก็จะกลับไปทำงานที่ประเทศจีนต่อไป ขณะเดียวกัน อาจารย์ด้านพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ก็จะมีโอกาสได้รู้จักกับสถาบันการแพทย์ในต่างประเทศ ที่จะเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันในอนาคต
งานวิจัย ยกระดับรักษาโรคซับซ้อน
อีกหนึ่งภารกิจสำคัญ ที่คณะแพทยศาสตร์รามาฯ ซึ่งถือว่าเป็นคลังสมองของประเทศในการพัฒนาระบบสุขภาพ นั่นคือการวิจัย ซึ่ง ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะกับการวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อหาสารที่มีคุณประโยชน์ มีฤทธิ์ทางยา หรือมีผลทางเภสัชวิทยาโดยตรง เพื่อสกัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย
มากไปกว่านั้น ในเรื่องการวิจัยทางการแพทย์ ก็มาถึงจุดที่คณะแพทยศาสตร์วิจัยคิดค้นผลิตสเต็มเซลล์ (Stem Cell) เพื่อนำไปใช้รักษาโรคซึ่งทำให้ได้ผลดีต่างไปจากการรักษาแบบเดิม ทั้งโรคเลือด มะเร็ง และธารัสซีเมีย รวมไปถึงยังคิดค้นผลิตสเต็มเซลล์เพื่อทำให้กระดูกงอกเชื่อมประสาน กรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยกระดูกหักและกระดูกไม่เชื่อมต่อกัน
ในส่วนงานวิจัยโดยเฉพาะกับโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ บอกว่า 3 เสาหลักของการรักษามะเร็งในปัจจุบันคือ ให้ยา ฉายแสง และผ่าตัด แต่ยังมีวิธีอื่นที่คณะแพทยศาสตร์รามาฯ ทำการวิจัย คือการใช้ภูมิคุ้มกันไปรักษามะเร็ง โดยนำเอายีนเม็ดเลือดขาวบางชนิด หรือ T-Cell ไปตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อทำให้ยีนภูมิคุ้มกันที่ผ่านการตัดแต่งแล้ว สามารถผ่านตัวมะเร็งเข้าไปเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งได้
“ที่ต่างประเทศใช้กันแล้ว แต่ก็ราคาแพง เพราะค่ารักษาสูงถึงกว่า 10 ล้านบาทต่อราย คณะแพทย์ศาสตร์รามาฯ กำลังวิจัยเพื่อเรื่องนี้เพื่อให้ผู้ป่วยในประเทศไทยเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ให้ได้” คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาฯ กล่าว
ลดแออัดในรามาฯ นำเข้าเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ
เป็นที่รู้กันดีว่าแต่ละวันในพื้นที่โรงพยาบาลรามาฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์รามาฯ จะเต็มไปด้วยผู้ป่วยจำนวนหลายร้อยคนรอคอยรับบริการตั้งแต่เช้ามืดไปจรดเย็น
ความแออัด และการที่ผู้ป่วยต้องรอพบแพทย์ รอตรวจรักษา รอรับยาเป็นเวลานาน เฉลี่ยแล้วก็ต้องมี 3 ชั่วโมง ประเด็นดังกล่าวก็เป็นอีกปัญหาที่คณะแพทยศาสตร์รามาฯ ต้องเข้ามาบริหารจัดการเพื่อให้ดีขึ้น ทั้งการจัดสรรเวลาแพทย์ลงตรวจเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมาในเวลาเดียวกัน รวมไปถึงการแจ้งสถานะการรักษา การรับยา เป็นต้น ผ่านทางแอปพลิเคชั่นของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้เห็นสถานะของตัวเอง ช่วยให้ไม่ต้องรอคอยในจุดเดิมนานๆ อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากมองถึงแกนของปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เวลานานเมื่อมาโรงพยาบาล ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ บอกว่า การรอรับยาคือจุดที่ทำให้ผู้ป่วยรอนานมากที่สุด แต่เพราะด้วยโรคของผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นโรคซับซ้อน และมีบางคนมียา 8-10 ชนิด การจัดยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายจึงต้องใช้เวลานาน และผู้ป่วยที่มารอรับยาก็มากถึงกว่าวันละ 1,000 คน
กระนั้นก็ตาม เมื่อเจอปัญหาและพบว่าเทคโนโลยีช่วยแก้ไขเรื่องนี้ได้ ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ บอกว่า จึงนำเข้าหุ่นยนต์เครื่องจัดยาอัตโนมัติ ที่สามารถใช้ระบบ AI เพื่อดูประเภท และคัดแยกยา เมื่อแพทย์สั่งยาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ก็จะเป็คำสั่งไปยังเครื่องจัดยา เพื่อจัดยาให้กับผู้ป่วย ก็จะทำให้กระบวนการจ่ายยาเร็วขึ้น และลดความแออัดได้
“แต่ด้วยความที่เป็นเครื่องขนาดใหญ่ จึงอาจต้องใช้เวลาจัดเตรียมสถานที่รองรับ แต่ก็คาดว่าจะเริ่มติดตั้งได้ภายในปีนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2568 และพร้อมให้บริการกับผู้ป่วยในทันที” คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์รามาฯ กล่าว
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ เสริมอีกว่า ปัจจุบันก็ยังได้ร่วมกับภาคเอกชนเปิดหน่วยบริการนอกโรงพยาบาล โดยเริ่มทดลองให้บริการที่ห้างสรรพสินค้าพาราไดซ์ พาร์ค ซึ่งให้บริการตรวจสุขภาพ และได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนมาใช้บริการ แต่จะขยายหน่วยบริการภายนอกมากขึ้นหรือไม่ ก็ต้องประเมินและพิจารณาอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องกำลังคนและภาระงานประจำของบุคลากรทางการแพทย์
อาคารผู้ป่วยใหม่มาตรฐานสูง มูลค่านับหมื่นล้าน
เมื่อมองมายังส่วนการให้บริการ ซึ่งแน่นอนว่าคณะแพทยศาสตร์รามาฯ เป็นที่รู้จักดีของคนไทยในชื่อ ‘โรงพยาบาลรามาฯ’ ที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยมาตลอดหลายสิบปี ซึ่งปัจจุบัน โรงพยาบาลรามาฯ แห่งนี้มีขนาด 1,000 เตียง มีผู้ป่วยนอกมารับบริการปีละ 3 ล้านคน ผู้ป่วยในประมาณ 6 หมื่นคนต่อปี ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้ก็ให้บริการมาเกือบ 60 ปี และไม่ได้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างใดๆ
แต่คณะแพทยศาสตร์รามาฯ ก็ยังมีสถานพยาบาลอีกแห่ง คือ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเปิดบริการมาแล้ว 5 ปี ปัจจุบัน รับผู้ป่วยนอกได้ปีละ 2 แสนคน และผู้ป่วยในอีก 1 หมื่นคน
อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการจำนวนมากในแต่ละวัน รวมถึงผู้ป่วยโรคซับซ้อนและโรคทีเกินกว่าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปจะรับมือไหว ก็จะถูกส่งตัวมาให้โรงพยาบาลรามาฯ ทำการรักษาต่อ ที่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
สิ่งนี้ทำให้คณะแพทยศาสตร์รามาฯ ต้องวางแผนเตรียมการรองรับ เพื่อดูแลผู้ป่วยและบริหารจัดการองค์กรให้มีความยั่งยืนมากที่สุด
แผนรับมือคือการลงทุนก่อสร้างอาคารผู้ป่วยแห่งใหม่ของโรงพยาบาลรามาฯ ในย่านนวัตกรรมโยธี เพื่อเป็นอาคารที่พร้อมทำหน้าที่แบ่งเบาภาระงานของอาคารผู้ป่วยเดิมที่เปิดมาเกือบ 60 ปี
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ เล่าว่า อาคารผู้ป่วยใหม่ของโรงพยาบาลรามาฯ จะมีเนื้อที่ 3 แสนตารางเมตร รองรับผู้ป่วย 800 เตียง ซึ่งจะให้บริการกับผู้ป่วยทุกสิทิการรักษา ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ
อาคารใหม่จะมีห้องไอซียู ห้องผ่าตัด รวมถึงมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่ทันสมัยและมีมาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมไปถึงหอผู้ป่วยในจะถูกปรับเปลี่ยนทั้งหมดให้มีขนาดเล็กลง อาจเหลือผู้ป่วยประมาณ 6 เตียงต่อ 1 ห้อง เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นส่วนตัว และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลทำงานได้ง่ายมากขึ้น
“แต่ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยของเราลดลง เพียงแต่เราเลือกใช้วิธีกั้นห้องผู้ป่วยให้เป็นส่วนตัวมากขึ้น เข้าห้องน้ำได้ง่ายขึ้น ซึ่งพื้นที่ก็อาจมีขนาดเล็กลง แต่ก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นทั้งกับผู้ป่วย และหมอ พยาบาล ที่ต้องดูแล” ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ กล่าว
อาคารใหม่ถูกตั้งงบประมาณก่อสร้างเฉพาะตัวอาคารเอาไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดย 70% หรือ 7,000 ล้านบาท จะเป็นส่วนที่สำนักงบประมาณจัดให้ ส่วนอีก 30% หรืออีก 3,000 ล้านบาท จะเป็นหน้าที่ของคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ที่ต้องเติมเต็ม โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปีนี้
“แต่แน่นอนว่ายังมีค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องจัดหา ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็อีกจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นภาระของเราที่ต้องระดมทุนผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อมาใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย โดยตั้งเป้าหมายการระดมทุนเพิ่มเติมอีก 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะถูกใช้ดำเนินการในการสร้างอาคารโรงพยาบาลและการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย” คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาฯ กล่าว
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ เสริมถึงการลงทุนที่เพิ่มเติมของคณะแพทยศาสตร์ คือการสร้างสถานพยาบาลระดับพรีเมียมเพื่อให้บริการในรูปแบบของโรงพยาบาลเอกชน แต่บริหารจัดการและมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลรามาฯ และคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ดูแล ซึ่งจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ และรายได้จากการบริการของสถานพยาบาลแห่งนี้ ก็จะถูกนำกลับมาใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาฯ รวมถึงบริหารจัดการสับสนุนการทำงานและงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์เพื่อยกระดับระบบการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น
เข็มทิศ และเป้าหมายของคณะแพทยศาสตร์รามาฯ
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ บอกถึงเป้าหมายสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของทุกคนที่จะร่วมมือกันไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งจุดเน้นที่เป็นแนวทางการทำงานที่สำคัญ คือเป็นคณะแพทยศาสตร์ที่พัฒนาต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานไปสู่ระดับสากล ทั้งระดับการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการ ที่ต้องผ่านมาตรฐานการรับรองที่จำเป็นทุกระดับ
รวมไปถึงสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการทำงาน โดยเฉพาะกับสถานพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ทั้ง 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ เพื่อร่วมกันผลักดันและพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ให้ก้าวหน้ามากขึ้น รวมถึงสร้างเครือข่ายกับสถาบันการแพทย์อื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันยกระดับระบบสุขภาพไปสู่มาตรฐานที่สูงขึ้น
คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาฯ เสริมตอนท้ายด้วยว่า จะต้องมุ่งนำนวัตกรรมทางการแพทย์ และความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่ทันสมัยมาใช้บริการกับผู้ป่วยให้มากขึ้นในอนาคต และในด้านความยั่งยืนและการธรรมาภิบาล ที่คณะแพทยศาตร์ และโรงพายาบาลรามาฯ ก็ยึดถือ แต่ในอีกด้านก็ต้องดูความยั่งยืน เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์มีกำลังและศักยภาพในการทำงานให้กับประเทศเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
- 2343 views